ENVIRONMENT

CPF ชูนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนทั้งในและตปท. ตั้งเป้ายกเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกกระทบสิ่งแวดล้อมภายใ
POSTED ON 12/01/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือซีพีเอฟ ประกาศนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ครอบคลุมกิจการทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนการลดพลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

เนื่องจากปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจในระดับโลก ซีพีเอฟ จึงได้ประกาศนโยบายบรรจุภัณฑ์ฯ ซีพีเอฟ ดังกล่าว ตั้งเป้าหมายบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดของบริษัทจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือ นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือ นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100% และจะยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการภายในปี 2573

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายฯ บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ทดแทนใหม่ได้จากแหล่งที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน 2. สนับสนุนการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle System) หรือนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วไปผลิตเป็นพลังงาน (Energy Recovery) ได้แก่ โครงการรับคืนบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค (Take-back System) 3.เพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลตามความเหมาะสมในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทำได้ โดยไม่กระทบกับคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร 4.มุ่งพัฒนารูปแบบการใช้ซ้ำแทนการใช้ครั้งเดียวสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือ การขนส่ง ตามความเหมาะสม

 

นายสุขสันต์ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาและบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างคุ้มค่า ซึ่งคาดว่านโยบายนี้จะช่วยลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิตลง 30% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 ตามเป้าหมายความยั่งยืนปี 2563 ของบริษัท ซึ่งในปี 2560 บริษัทสามารถลดปริมาณของเสียได้แล้ว 9.08%

 

"ซีพีเอฟ มุ่งมั่นพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าและบรรจุภัณฑ์ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่เป็น Hot spot ตั้งแต่ กลุ่มโรงงานผลิตอาหารสัตว์บก กลุ่มฟาร์มสัตว์น้ำ รวมถึงโรงงานผลิตอาหารของบริษัท"นายสุขสันต์ กล่าว

 

นอกจากนี้ นโยบาย "บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน" ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งกำหนดให้ทุกกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยต้องหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากวัสดุ "นำกลับมาใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ และย่อยสลายได้" ทั้งหมด ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนนโยบายขององค์กรด้านความยั่งยืนระดับโลกซึ่งซีพีเอฟเป็นสมาชิกอยู่ เช่น for Ocean Stewardship (SeaBOS) และ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติข้อ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

 

นายสุขสันต์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ลดการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิตด้วยการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดขยะพลาสติกในห่วงโซ่คุณค่าทุกสายธุรกิจ ทำให้ในปัจจุบันสามารถลดการใช้พลาสติกได้มากกว่า 10,000 ตันต่อปี เช่น ในปี 2556 โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกของซีพีเอฟ ใช้ Bulk feed tank ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสัตว์ และในปี 2560 สามารถลดการใช้พลาสติกได้ 60% ของการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิต หรือคิดเป็นพลาสติกมากกว่า 8,000 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 17,000 ตันคาร์บอน

 

นอกจากนั้นยังได้ขยายผลไปยังกิจการต่างประเทศได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์และรัสเซีย และในธุรกิจสัตว์น้ำได้นำ Q-pass tank มาใช้ที่ฟาร์มสัตว์น้ำเพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติกบรรจุลูกกุ้ง ลดพลาสติกได้มากกว่า 1,600 ตัน เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3,600 ตันคาร์บอน

 

ในส่วนโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูป บริษัทมีการพัฒนาการลำเลียงวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตและการขนส่งสินค้า ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ลดปริมาณการใช้พลาสติกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันได้มากกว่า 3,500 ตัน นอกจากนี้ถุงพลาสติกทั้งหมดที่บริษัทใช้ในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูปจะต้องไม่ก่อให้เกิดขยะฝังกลบ ภายในปี 2568

 

นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ของบริษัทกล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่นำพลาสติกชีวภาพย่อยสลาย (Poly Lactic Acid หรือ PLA) ซึ่งทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่นข้าวโพด และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพลาสติกทั่วไป มาใช้กับบรรจุภัณฑ์อาหารหมูสดและไก่สด

 

"บริษัทมุ่งสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่ตอบสนองความต้องการให้แก่ผู้บริโภคทั้งด้านการใช้งาน ด้านภาพลักษณ์ ตลอดจนถึงความปลอดภัยด้านอาหาร และการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าที่สุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้" นายสุขวัฒน์ กล่าว

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทได้ส่งเสริมบุคลากรให้มีความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ความคิดสร้างสรรค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้าง Innovation & Renovation รวมถึงตั้งเป้าให้ศูนย์ Research and Development Center ซึ่งเพิ่งเปิดตัวใหม่ เป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เทคโนโลยี การออกแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในทุกกลุ่มธุรกิจอาหาร และวิเคราะห์แก้ไขปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัทในเครือ ทั้งในและต่างประเทศ (Technical Assistance)