ENVIRONMENT

กรมโรงงานฯ เตรียมแผนผุดโรงงานกำจัดแท่นขุดเจาะฯ ในทะเลที่เลิกใช้งาน
POSTED ON 08/12/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่าวไทยมีแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่หยุดดำเนินการผลิตแล้วจำนวน 40 แท่น คิดเป็น 10% ของจำนวนแท่นที่มีทั้งหมดจาก 400 แท่น ขณะที่น้ำหนักของแท่นขุดเจาะจะอยู่ที่ 1 ล้านตันต่อแท่น รวมน้ำหนักแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ทาง กรอ.ได้หารือร่วมกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในการหาแนวทางในการจัดตั้งโรงงานกำจัดแท่นขุดเจาะฯ ที่หยุดผลิตแล้ว เพื่อกำจัดแท่นขุดเจาะด้วยวิธีการตัด แยก ดัด กลุ่มเหล็ก โลหะ ท่อ ปั๊ม ตลอดจนชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกมารีไซเคิล โดยในเบื้องต้นจะกำหนดให้โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายแท่นทางทะเลและเข้าฝั่งทางทะเลภาคตะวันออก

 

เบื้องต้นอาจให้บริษัทด้านพลังงานที่ทำธุรกิจขุดเจาะปิโตรเลียมในไทยประมาณ 10 ราย อาทิ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะเจ้าของแท่นขุดเจาะร่วมลงขันจัดตั้งบริษัทกำจัดกากดังกล่าว หรืออาจใช้วิธีจ้างบริษัทกำจัดกากที่มีความเชี่ยวชาญ มีเทคโนโลยี เข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ ซึ่งผลพลอยได้จากการกำจัดแท่นขุดเจาะนอกจากสามารถแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ของแท่นขุดเจาะออกมาใช้ประ โยชน์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมอื่นได้อีกด้วย

 

นายมงคล กล่าวว่า "นโยบายนี้เป็นของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน คนปัจจุบัน ซึ่งตอนที่เสนอนโยบายท่านยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าจะมีการเดินหน้าโครงการต่อให้สำเร็จลุล่วงหรือไม่ และหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง จะถือเป็นครั้งแรกในอาเซียน เพราะยังไม่มีประเทศที่มีการขุดเจาะปิโตรเลียมมีกระบวกการกำจัดแท่นด้วยวิธีนี้ หากไทยเป็นผู้ริเริ่มก่อนก็สามารถรับกำจัดแท่นในทะเลของประเทศอื่น อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้ด้วย"

 

นอกจากนี้ กรอ.ยังเตรียมออกระเบียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ โดยให้โรงงานรายงานปริมาณการปลดปล่อยหรือทิ้งน้ำเสีย อากาศเสีย และของเสีย ออกจากโรงงานไปบำบัดหรือกำจัด เพื่อติดตามและตรวจสอบการปลดปล่อยรวมถึงการเคลื่อนย้ายมลพิษอย่างเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยการรายงานดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อนำมาจัดทำระบบฐานข้อมูลเผยแพร่สู่สาธารณชน