ENVIRONMENT

บังคับรถบรรทุกกากอุตฯทุกคันต้องติด GPS เริ่ม ก.ค.นี้
POSTED ON 31/03/2559


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม 31 มี.ค.2559 - นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวโครงการระบบฐานข้อมูลและการติดตามขนส่งกากอุตสาหกรรมด้วยระบบ GPS ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ร่วมพัฒนากับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยระบบดังกล่าวนี้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานจะใช้ติดตามรถขนส่งกากของเสียอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่น GPSHZW DIW ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถขนส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

 

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรอ.อยู่ระหว่างร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบังคับให้ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายต้องติดตั้งระบบ GPS ทุกคัน และมีบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการขนส่งกากอุตสาหกรรมที่ลักลอบทิ้งกากอันตราย โดยจะเริ่มบังคับใช้จริงเดือน ก.ค.2559 นี้ หากรถขนส่งกากฯไม่ดำเนินการติดตั้งระบบ GPS และไม่ส่งข้อมูลให้ กรอ. ทางกรมฯจะไม่พิจารณาออกใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายเพื่อการขนส่งให้

 

ระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม สามารถรายงานตำแหน่งของรถขนส่งด้วยระบบ GPS (Global Positioning System) ผ่านแอพพลิเคชั่น GPSHZW DIW บนสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ (Android) และเว็บไซต์ http://gisapp.diw.go.th

 

ภายในระบบฯ จะระบุรายละเอียดข้อมูลการขนส่ง อาทิ หมายเลขประจำตัวเครื่องบันทึกข้อมูล (GPS ID) วันเวลาที่ส่งข้อมูล ข้อมูลของเสียที่จะขนถ่าย ละติจูด ลองจิจูด ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ ทิศทางการเดินทาง เป็นต้น โดยสามารถติดตามรถขนส่งได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และรายงานข้อมูลทุก 1 นาที ตั้งแต่เริ่มมีการแจ้งนำของเสียออกนอกโรงงาน จนกระทั่งเข้าสู่แหล่งกำจัดกาก ซึ่งหากเกิดปัญหาการทิ้งกากระหว่างการขนส่งหรือนอกพื้นที่ กรอ.จะสามารถตรวจสอบได้ทันที ซึ่งจะทำให้สามารถกำกับดูแลการจัดการกากอันตรายในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการตรวจสอบถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึงได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ระหว่างร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปิดทดสอบระบบควบคู่ไปด้วย โดยได้รับความร่วมมือในการทดลองส่งสัญญาณ GPS จากบริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็น Service Provider ที่ให้บริการด้าน GPS อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือในการทดลองใช้ระบบการติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมจริง โดยบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรม

 

นายพสุ กล่าวว่า หลังจากบังคับใช้กฎหมาย ทุกโรงงานจะเข้าสู่ระบบการกำจัดกากฯ ซึ่งปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบฯอย่างถูกต้องแล้วประมาณ 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี คาดปีนี้จะเข้าสู่ระบบฯเพิ่มเป็น 1.4 ล้านตัน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมวางแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยมีเป้าหมายนำกากของเสียที่เป็นอันตราย 1.5 ล้านตัน เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งมีมาตรการหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมสำหรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมระยะ 20 ปีข้างหน้า อย่างน้อย 6 พื้นที่ และจะนำร่องสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรม

 

ปัจจุบันมีโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งจัดอยู่ในโรงงานจำพวกที่ 3 แจ้งประกอบกิจการจำนวน 70,311 โรงงาน ในจำนวนนี้มีโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม จำนวน 1,694 โรงงาน โดยมีโรงงานราว 47,950 โรงงาน หรือประมาณ 68% ที่มีการลงทะเบียนในระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมของ กรอ. และมีโรงงานจำนวน 28,178 โรง ที่มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือคิดเป็น 40% แต่ยังมีโรงงานอีกกว่า 60% ที่ยังไม่ได้เข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง จึงเป็นเป้าหมายหลักของ กรอ.ที่จะเร่งรัดโรงงานที่เหลือเข้าระบบฯอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร.0-2202-4017 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics