ENERGY

พพ.คาดรัฐเปิดรับข้อเสนอโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ไม่เกิน 100 MW ใน ก.พ.
POSTED ON 17/01/2563


 

 

นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า การเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในลักษณะโครงการนำร่องรูปแบบ Quick Win คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ (MW) และโครงการที่ผ่านการคัดเลือกน่าจะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ในภายในเดือน มี.ค.เพื่อให้โครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปีนี้ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

ในวันนี้ (17 ม.ค.) พพ.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้นำเสนอข้อมูลหลักเกณฑ์และการพิจารณาคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน พิจารณาในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เนื่องจากขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ ยังไม่สามารถเปิดประชุมได้อย่างเป็นทางการ เพราะยังต้องรอหนังสือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรีให้เรียบร้อยก่อน

ทั้งนี้ หากมีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เป็นที่เรียบร้อยจะสามารถนำรายละเอียดหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการฯ เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อมีมติอนุมัติได้ทันที หลังจากนั้นก็จะเสนอต่อที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ความเห็นชอบ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศเพื่อรับซื้อไฟฟ้าต่อไป โดยในส่วนแรกจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการ Quick win คาดว่าจะมีจำนวนไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นภายในครึ่งแรกปีนี้ ก็จะเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปในส่วนกำลังการผลิตที่เหลือเพื่อให้ครบตามเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 64 เป็นต้นไป

อนึ่ง โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจะแบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Quick win จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 63 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้ามาร่วมโครงการ และโครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 64 เป็นต้นไป ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/แห่ง

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯได้รับความสนใจจากบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการ Quick win ได้แก่ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) ที่เตรียมจะเสนอโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 1.5 เมกะวัตต์ ที่ จ.ขอนแก่น , บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) ที่เตรียมจะโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 2 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 2 เมกะวัตต์ใน จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น

ขณะที่อีกหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะยื่นประมูลตามโครงการทั่วไป เช่น กลุ่ม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) , บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) ,บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ,บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (7UP) , บมจ.สากล เอนเนอยี (SKE) เป็นต้น

ด้านนายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้ให้ความสนใจโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนมากนัก เนื่องจากมีข้อกังวลต่อปริมาณเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเบื้องต้นโครงการน่าจะเน้นเชื้อเพลิงประเภทชีวมวลเป็นหลัก ซึ่งยังมีความเสี่ยงเรื่องปริมาณที่อาจไม่เพียงพอ หลังปัจจุบันเริ่มเห็นว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลทางภาคใต้หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาดังกล่าว

อีกทั้งราคาเชื้อเพลิงก็ปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ระดับ 500 บาท/ตัน ก็ปรับขึ้นมาถึงระดับ 1,200 บาท/ตัน และเมื่อเทียบกับค่าความร้อนระหว่างเชื้อเพลิงชีวมวล กับเชื้อเพลิงขยะ RDF ก็มีค่าความร้อนต่ำกว่าด้วย โดยเชื้อเพลิงชีวมวล ให้ค่าความร้อนกว่า 2,000 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม ขณะที่เชื้อเพลิงขยะ RDF ให้ค่าความร้อนสูงกว่าที่ระดับกว่า 3,000 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม ซึ่งค่าความร้อนที่มีมากกว่าก็จะให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าที่มากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกลุ่มชุมชนในบริเวณที่ตั้งโรงไฟฟ้าของบริษัท ก็ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ก็ได้มาหารือกับทางบริษัท ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาว่าโครงการจะมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน