ENERGY

กฟผ. เดินหน้า EGAT Energy Excellence Center แหล่งเรียนรู้พลังงานสะอาดและยั่งยืน
POSTED ON 12/11/2562


 

 

กฟผ. มีแนวคิดที่จะพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ให้กลายเป็น EGAT Energy Excellence Center ที่สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าได้ในพื้นที่ของตัวเอง โดยจะยกระดับศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ครบเครื่องยิ่งขึ้นไปอีก

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ (ชยอ.) ได้เล่าถึงแนวคิดและรายละเอียดของ EGAT Excellence Center ไว้บนเวทีของงาน Smart Energy Transformation Asia 2019 หรือ SETA 2019 ว่า ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ความเป็นมาของต้นกำเนิดไฟฟ้าของโลก ต้นกำเนิดไฟฟ้าในไทย วิวัฒนาการของการผลิตพลังงานไฟฟ้า การนำมาใช้งาน ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีรากฐานการพัฒนามาจากพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือว่าครบถ้วนความรู้ทั้งกระบวนการผลิตไฟฟ้า

สำหรับรูปแบบของ EGAT Energy Excellence Center นั้น จะมีพื้นที่การเรียนรู้ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชนิดต่าง ๆ (Renewable Energy Sources : RES) โดยมีการนำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้ (Microgrid) มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) และควบคุมด้วยระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในพื้นที่ (Micro Energy Management System : Micro EMS) เรียกได้ว่าสามารถเรียนรู้กระบวนการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้จากของจริงเลยทีเดียว

จากแนวความคิดมาสู่การพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง กฟผ. ได้ร่วมมือกับบริษัท Enapter ผู้ดำเนินโครงการบ้านผีเสื้อ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง โดยจะมีศึกษาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบไฮโดรเจน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบสมาร์ทกริดและไมโครกริดภายใต้โครงการ Sandbox “EGAT Energy Excellence Center (EGAT-EEC)” ของ กฟผ. ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าประเภทแสงอาทิตย์ และเครื่องยนต์ก๊าซ ผสมผสานร่วมกับ Inverter Model ซึ่งมีระบบกักเก็บไฮโดรเจนมาเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์การเรียนรู้ฯ มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 350 kW ในระหว่างเวลา 10.00–16.00 น. ซึ่งเป็นระยะเวลาเปิดดำเนินการ จึงมีแนวคิดที่จะผสมผสานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในลักษณะต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในพื้นที่ให้ได้อย่างเพียงพอ โดยจะนำระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าในแบบต่าง ๆ มาติดตั้งไว้โดยรอบพื้นที่อาคาร มีส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้

แผงโซลาร์เซลล์ หรือ Solar PV จะติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ และติดตั้งบนหลังคาของพื้นที่จอดรถทั้งหมด โดยคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 500 kW เพื่อรับพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า Gas Engine เครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่สามารถเดินเครื่องได้จากเชื้อเพลิงหลายชนิด ทั้งก๊าซ และไฮโดรเจน ซึ่งจะติดตั้งในพื้นที่รอบอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยจะนำเชื้อเพลิงจากในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ มาผลิตไฟฟ้า ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ซึ่งประกอบด้วย Electrolyser ทำหน้าที่แยกไฮโดรเจนกับออกซิเจน จากนั้นก็นำไฮโดรเจนไปเก็บที่ H2 Energy Storage และเมื่อจะผลิตไฟฟ้าก็จะนำไฮโดรเจนจากที่เก็บมายัง H2 Fuel Cell เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าต่อไป

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซนั้น แบ่งเป็น 1. ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่ได้จากกระบวนการหมักและย่อยสลายของ Biowaste หรือเศษอาหาร และขยะ ภายในพื้นที่สำนักงานกลาง กฟผ. ด้วยวิธีการทางชีวภาพ และ 2.ก๊าซธรรมชาติ จากระบบท่อก๊าซธรรมชาติสำหรับจ่ายให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ในกรณีที่ Biogas มีไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งในบริเวณเดียวกันจะมีการติดตั้ง ระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ (BESS) เพื่อกักเก็บพลังงานที่ผลิตเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในภายหลัง หัวใจหลักของระบบนี้คือ ระบบ Control & Monitoring Center เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ทั้งระบบ คาดว่าเมื่อติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดใช้งานระบบ จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลางได้

“สำหรับ EGAT Energy Excellence Center นี้ จึงเป็นการนำแนวความคิดมาจากโครงการบ้านผีเสื้อ โดยปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ของ กฟผ. ในแบบของเราเอง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสามารถดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2564”

ในอนาคต EGAT Energy Excellence Center จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานที่สมบูรณ์แบบ และสามารถเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของ กฟผ. รวมถึงยังสร้างแรงบันดาลใจที่ดีในการเผยแพร่เทคโนโลยีการพึ่งพาตนเองสำหรับการจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่คุ้มค่า ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานและบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อีกด้วย