ENERGY

พพ.รุกศึกษาโรงไฟฟ้าขยะที่สิงคโปร์ จ่อใช้เป็นโมเดลแก้ขยะล้นเมืองในไทย
POSTED ON 02/11/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing

พพ. ชูแนวทางบริหารจัดการขยะของโรงไฟฟ้าขยะแซมบ์คอร์ปประเทศสิงคโปร์ ต้นแบบการแข่งขันด้านราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมในหลักการจัดการขยะที่ยั่งยืน “ผู้ก่อขยะเป็นผู้จ่าย” เดินหน้ารณรงค์คนไทยส่งเสริมนำขยะกำจัดถูกวิธีสู่การผลิตพลังงานเพื่อความมั่นคง

 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้นำคณะผู้บริหาร กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานและสื่อมวลชนเข้าศึกษาดูงานภายในโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ ของบริษัท แซมบ์คอร์ป จำกัด (Sembcorp) ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจูล่ง ประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นแนวทางการส่งเสริมการนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับประเทศไทย ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 ที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015

 

ทั้งนี้โรงงานดังกล่าว มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า-ไอน้ำที่ใช้ขยะด้วยเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งสามารถกำจัดขยะได้ 140 ตันต่อชั่วโมง โดยขยะที่นำมาใช้ในกระบวนการเผาต้องเป็นขยะที่คัดแยกแล้ว และต้องนำมาผสมกับเศษไม้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงก่อนเข้าเตาเผา ซึ่งโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าว ใช้เทคโนโลยีใกล้เคียงกับประเทศไทย เพียงแต่แตกต่างในหลักการและวิธีการจัดหาขยะ โดยในประเทศสิงคโปร์ผู้ผลิตขยะ จะต้องเป็นผู้รับชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ในขณะที่ประเทศไทยโรงกำจัดขยะจะต้องเป็นผู้รับซื้อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในไทยจะสูงกว่าในประเทศสิงคโปร์

 

สำหรับโรงไฟฟ้าขยะที่ประเทศสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นผู้รับจ้างกำจัดขยะ โดยคิดอัตราค่าจ้างประมาณ 90 เหรียญสิงคโปร์ต่อตัน หรือ ประมาณ 2,250 บาทต่อตัน ในขณะที่ประเทศไทยโรงไฟฟ้าจะเป็นผู้จัดหาและรับซื้อขยะ 800-1,200 บาทต่อตัน ทำให้ราคาไฟฟ้าในประเทศสูง และไม่สามารถแข่งขันกับราคาค่าไฟฟ้าที่มาจากการผลิตจากก๊าซธรรมชาติได้เช่นเดียวกับที่ประเทศสิงคโปร์ โดยประเทศไทยต้องมีนโยบายการอุดหนุนค่าไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าจากขยะ

 

“โรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทย มีเทคโนโลยีและมีระบบมาตรฐาน ในการผลิตไฟฟ้าขยะและไอน้ำ ใกล้เคียงกับโรงงานแห่งนี้ แต่สิ่งที่มีความแตกต่างก็คือมุมมองวิธีคิดในเรื่องของหลักการทางเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการขยะ และโครงสร้างทางธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งตามหลักสากลทั่วโลกดำเนินการคือผู้ผลิตขยะจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าบำบัด ในขณะที่ประเทศไทยการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่อยู่ในฐานะผู้กำจัดขยะกลับต้องเป็นผู้ซื้อขยะ จึงทำให้ต้นทุนของขยะที่ใช้ผลิตสูง ส่งผลต่อราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะคนไทยมองว่าขยะมีมูลค่ามากกว่าที่จะลดปริมาณขยะ และผลิตไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน” นายศิริ กล่าว

 

ดังนั้นปัญหาขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศไทย จะต้องมีการปรับมุมมองและทัศนคติในเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีซึ่งเป็นการรณรงค์ให้คนไทยลดการผลิตขยะมากกว่าการส่งเสริมให้เกิดขยะ ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานต่างๆจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต้องทำอย่างต่อเนื่อง