ENERGY

กพ. เผย เตรียมลดสำรองน้ำมันดิบ และเพิ่มสำรองน้ำมันสำเร็จรูป
POSTED ON 27/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมฯ มีแนวคิดที่จะลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบเหลือระดับ 5% หรือประมาณ 18 วัน จากปัจจุบันที่โรงกลั่นน้ำมันจะต้องสำรองน้ำมันดิบระดับ 6% ของปริมาณการค้าประจำปี หรือประมาณ 22 วัน ซึ่งการลดสำรองน้ำมันดิบดังกล่าวจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันสามารถนำน้ำมันจากประเทศอื่นเข้ามาเพิ่มเติม เช่น สหรัฐฯ หรือเอเชียตะวันออก ซึ่งมีราคาถูกกว่า จากปัจจุบันที่นำเข้าจากตะวันออกกลางมากกว่า 50% โดยการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาถูกมาใช้นั้นก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศถูกลงได้ด้วย

 

ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มสำรองน้ำมันสำเร็จรูปเป็นระดับ 2% หรือราว 7 วัน จากปัจจุบันที่ผู้ค้าน้ำมันจะต้องสำรองในระดับ 1% ของปริมาณการค้า หรือประมาณกว่า 3 วัน ซึ่งจะทำให้จำนวนวันของปริมาณสำรองน้ำมันของน้ำมันดิบและสำเร็จรูป รวมกันอยู่ในระดับเดิมที่ราว 25 วัน ทำให้ประเทศยังมีความสมดุลด้านพลังงานน้ำมัน  โดยเตรียมจะเชิญกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 มาหารือในช่วงเดือน มี.ค.2561 นี้

 

"กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันขอให้ภาครัฐปรับลดการสำรองลง เพื่อเปิดโอกาสให้โรงกลั่นสามารถนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นเพิ่มเติมได้ หากปรับลดสำรองน้ำมันดิบลงก็จะมีพื้นที่เก็บเหลือมากพอสำหรับการผสมน้ำมันได้ ก็จะสามารถนำเข้าได้มากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาการนำเข้าจากตะวันออกลางเพียงอย่างเดียว ก็สามารถซื้อน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ และเอเชียตะวันออก ที่มีแนวโน้มราคาถูกลงได้ ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในประเทศถูกลงด้วย" นายวิฑูรย์ กล่าว

 

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การจะขอเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปเป็น 2% นั้น ทางผู้ค้าน้ำมันฯยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนในการเก็บสำรองมากขึ้น ในขณะที่โรงกลั่นจะมีต้นทุนถูกลง ดังนั้น กรมฯ จึงต้องหาความสมดุลระหว่างผู้ค้าและโรงกลั่น เพราะหากดำเนินการได้ตามแนวทางดังกล่าวก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านน้ำมันของประเทศ และในระยะยาวผู้ใช้น้ำมันจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันที่มากขึ้น หากโรงกลั่นสามารถแข่งขันนำเข้าได้ ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มโรงกลั่นเกือบทุกราย อย่างเช่น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นต้น ก็มีแผนจะหันไปนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกมากขึ้น  

 

อย่างไรก็ตาม หากการปรับปริมาณสำรองน้ำมันได้ข้อสรูปแล้ว ก็จะต้องนำเรื่องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อนจะประกาศใช้ต่อไป

 

ด้าน นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นฯเห็นว่าการปรับลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบลง 1% ในช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะการจัดหาน้ำมันดิบในปัจจุบันง่ายกว่าในอดีต และราคาน้ำมันไม่ได้สูงเหมือนอดีตที่กว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งการลดปริมาณสำรองน้ำมันมาอยู่ที่ระดับ 5% เท่ากับอดีตจะช่วยให้โรงกลั่นมีเงินทุนหมุนเวียนดีขึ้น แต่การปรับเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันเร็จรูปเป็น 2% นั้นก็จะทำให้ผู้ค้าน้ำมันฯมีภาระเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังต่ำกว่าอดีตที่มีการเก็บปริมาณสำรองในปริมาณเท่ากัน

 

ก่อนหน้านี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เคยออกมาระบุว่า กรมธุรกิจพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาลดปริมาณสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 6% เหลือ 5% เพื่อหวังลดภาระของโรงกลั่นน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และอาจจะกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกได้ หลังผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่ามีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปีนี้จะยืนทรงตัวสูงที่ราว 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่การสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ที่ระดับ 5% แต่มาเพิ่มเป็น 6% เมื่อ 4 ปีที่แล้ว หลังเกิดสถานการณ์นิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งการปรับเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันในครั้งนั้น ทำให้โรงกลั่นน้ำมันมีต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 16 สตางค์/ลิตร และกลุ่มโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันก็ไม่ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในช่วงดังกล่าว