ENERGY

รมว.พลังงาน ชี้ แผน PDP ฉบับใหม่ ต้องไร้การผูกขาดธุรกิจพลังงาน
POSTED ON 09/01/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานวางเป้าหมายแผนพลังงานของประเทศ ภายใต้กรอบหลักค่าไฟฟ้าในระยะยาวจะต้องไม่แพง ไม่มีระบบโควตา และไม่มีการผูกขาด โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ศึกษาบทบาทและผลกระทบต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุแผนดังกล่าว เพื่อเตรียมนำมาจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ฉบับใหม่ที่จะต้องมีความชัดเจนในสิ้นเดือน มี.ค.2561 ซึ่งแผนภายใต้การกำกับกิจการพลังงานนั้น ระบบท่อส่งก๊าซธรมชาติยังอยู่ภายใต้ความเป็นเจ้าของรัฐผ่าน ปตท. ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระบบสายส่งไฟฟ้าก็จะอยู่ภายใต้ system operator ของ กฟผ. ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 

นายศิริ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นระบบที่มีการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดทั้งจากภาครัฐ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ หรือจะต้องไม่มีลักษณะของเสรีจนเกินไป ซึ่งในส่วนของ กฟผ. จะต้องศึกษาความเหมาะสมหลายรูปแบบ ทั้งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของ กฟผ. ที่ต้องการจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าราว 2,000 เมกะวัตต์

 

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา รวมถึงภาพรวมของการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่บนรูปแบบที่ราคาค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงและมีแนวโน้มถูกลง จากปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าขายปลีกอยู่ที่ราว 3.60 บาท/หน่วย ขณะที่ตามแผน PDP 2015 ฉบับปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าระยะยาวจะอยู่ที่ราว 5.55 บาท/หน่วย รวมถึงการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.และภาคเอกชนควรอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากรายใดสามารถผลิตไฟฟ้าได้ภายใต้กรอบค่าไฟฟ้าที่ถูกก็ควรจะเป็นผู้ได้รับสิทธิการผลิตไฟฟ้าไป

 

กรณีของ ปตท. ให้ศึกษาเรื่องราคาก๊าซธรมชาติ ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเหมาะสม ตลอดจนการแข่งขันธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันจัดหาก๊าซธรมชาติในประเทศมากขึ้น ภายใต้การกำกับไม่ให้เกิดการคิดค่าบริการเกินความเหมาะสมซึ่งอาจจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

 

นายศิริ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ส่วนแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ตามแผน PDP 2015 ฉบับปัจจุบันที่มีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 16,778 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีสัดส่วนเพียง 12% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งตามเป้าหมาย PDP 2015 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 20% เห็นว่าไม่ควรจะกำหนดสัดส่วนการผลิต เพราะในอนาคตรัฐบาลมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีอยู่แล้ว ก็จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะสามารถตอบโจทย์หลักที่ค่าไฟฟ้าจะต้องไม่แพงหรือไม่ จากปัจจุบันอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 22 สตางค์/หน่วย ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะทำให้การจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ VSPP Semi-Firm จำนวน 269 เมกะวัตต์ อาจต้องชะลอออกไป เพราะต้องรอให้แผน PDP ฉบับใหม่มีความชัดเจนก่อน ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนนั้น นอกจากเรื่องจะเป็นเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ยังต้องพิจารณาเทียบกับประเด็นทางสังคมด้วย”

 

นอกจากนี้ ตามแผน PDP ฉบับใหม่ยังเห็นควรที่จะต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน  ซึ่งอาจจะมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่อาจไม่มีความจำเป็นต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่อาจจะอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อความเหมาะสม

 

“แผนการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปัจจุบันในเรื่องของการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ จะต้องมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือน ม.ค.2561 และคาดว่าจะเริ่มออกเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ภายในสิ้นเดือน ก.พ.2561 นี้ ขณะที่ความชัดเจนของโรงไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา จะต้องชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า และเรื่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี จะต้องมีความชัดเจนภายในกลางปีนี้” นายศิริ กล่าว

 

ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยบกับแผนพลังงานให้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2560 โดยส่วนหนึ่งมองว่าจะเป็นการลดบทบาทของ กฟผ.และ ปตท.ลงในอนาคต ซึ่งทาง รมว.พลังงาน ได้ระบุเรื่องดังกล่าวว่า เอกสารดังกล่าวได้ถูกส่งต่อให้ กฟผ.และ ปตท. ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงบทบาทและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาการจัดทำแผนพลังงานต่อไปในอนาคต