ENERGY

บี.กริม เตรียมลุยซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ ราชบุรี
POSTED ON 22/12/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เตรียมซื้อหุ้น 48% ของโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดย บริษัท โปรเกรส อินเตอร์เคม (ประเทศไทย) จำกัด กำลังการผลิตติดตั้งรวม 4.8 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขาย 4.0 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ หากธุรกรรมนี้บรรลุผลในการร่วมลงทุน ประเมินว่าโครงการนี้จะเพิ่มมูลค่าให้กับ BGRIM หุ้นละ 0.06 บาท โดยหุ้น BGRIM ปรับขึ้น 1.89% มาที่ 27 บาท หรือปรับขึ้น 0.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 48.21 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.11 น. ของวันนี้ (22 ธ.ค.2560) ราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 26.75 บาท ราคาหุ้นปรับขึ้นทำระดับสูงสุดที่ 27 บาท และทำระดับต่ำสุดที่ 26.75 บาท

 

ขณะที่ทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า โครงการนี้จะสร้างรายรับประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี จากสมมติฐาน เงินลงทุน 150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 6% สัดส่วนหนี้สินต่อทุน 3:1 ต้นทุนเชื้อเพลิงจากขยะ 105 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจากสมมติฐานดังกล่าวคาดว่าโครงการนี้จะสามารถให้ EIRR ในระดับ 13% อ้างอิง WACC ณ 5.8%

 

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมใน จ.ราชบุรี จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระยะเวลา 20 ปี คาดว่า จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 31 ธ.ค.2562 ซึ่งอัตราการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) 6.08 บาทต่อหน่วย และในช่วง 8 ปีแรกมี FiT พิเศษ 0.70 บาทต่อหน่วย

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ผลิตไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP Hybrid Firm กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ รวม 17 โครงการ ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อที่ 3.66 บาท ซึ่งจะต้องมีการผสมผสานการใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 1 ประเภทขึ้นไป หรือใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) ร่วมด้วย เพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อจัดอันดับตามกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสนอขายสูงสุดนั้น แบ่งเป็น

 

1. บริษัท ไทยโก้ เทคโนโลยี จำกัด รวม 4 โครงการ กำลังผลิต 53.85 เมกะวัตต์

2. บริษัท ศรีพระยา จำกัด รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 41.5 เมกะวัตต์

3. บริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ จำกัด รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 34.29 เมกะวัตต์ บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ ศิริวัฒนภักดี

4. บริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 34.81 เมกะวัตต์

 

ส่วนที่เหลือได้ไปอย่างละ 1 โครงการ ได้แก่

 

บริษัท เกษตรผล เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด กำลังผลิต 27 เมกะวัตต์

บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด กำลังผลิต 13.84 เมกะวัตต์

บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ภูเวียง) จำกัด กำลังผลิต 16 เมกะวัตต์

บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด กำลังผลิต 11.29 เมกะวัตต์

บริษัท บลูโซลาร์ฟาร์ม 1 จำกัด กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์

บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด (บริษัทในเครือซุปเปอร์บล๊อก) กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์

บริษัท พีเอสที เอนเนอร์ยี 1 จำกัด กำลังผลิต 23.42 เมกะวัตต์

 

ทั้งนี้ พบว่ารายใหญ่ด้านพลังงานอย่างบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กลับไม่ได้รับคัดเลือก