ENERGY

รอสรุปรูปแบบเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ ทั้ง 3 ระบบมีลุ้นหมด
POSTED ON 04/04/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 ว่า กรมฯจะจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในวันที่ 5 เม.ย.2560 นี้ เพื่อศึกษาคัดเลือกแปลงปิโตรเลียมในแต่ละพื้นที่จะใช้ระบบใด จากนั้นจะเสนอรายละเอียดยัง รมว.พลังงาน และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

 

ดังนั้น แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 ทั้งแหล่งเอรารัณและบงกชจะใช้ระบบใดในการเปิดประมูลนั้น จะต้องรอข้อสรุปดังกล่าวก่อน ซึ่งอาจมีโอกาสเป็นไปได้ทั้ง 3 ระบบ ทั้งระบบสัมปทาน, ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบรับจ้างผลิต (SC) เพราะหากในช่วงแรกเลือกระบบ PSC แต่สุดท้ายแล้วไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ก็อาจต้องเปลี่ยนระบบ

 

ขณะเดียวกันในวันที่ 10 เม.ย.2560 นี้ กรมฯจะนำเรื่องกฎกระทรวงเกี่ยวกับ PSC เข้าคณะกรรมการปิโตรเลียม จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ครม.ต่อไป ส่วนระบบ SC กรมฯจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.2560 นี้

 

ขณะที่ TOR การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกช ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา จะเข้าคณะกรรมการปิโตรเลียมภายในสิ้นเดือน เม.ษ.2560 นี้ จากนั้นจะเสนอ ครม.รับทราบภายในเดือน มิ.ย.2560 นี้ ดังนั้น คาดว่าในช่วงต้นเดือน ก.ค.2560 นี้ จะสามารถเปิดประมูลได้ ซึ่งกรมฯจะคัดเลือกบริษัทที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล และมีสิทธิ์เข้าดูข้อมูลแหล่งสัมปทานได้ คาดจะได้ผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.2560 นี้

 

อย่างไรก็ตาม กรมฯจะคัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามาร่วมประมูล ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากเงื่อนไขการประมูลจะเน้นการผลิตปิโตรเลียมที่ต่อเนื่อง ดังนั้น จะต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ โดยยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิม ทั้งกลุ่มเชฟรอน และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เนื่องจากเป็นการแจ้งทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ แต่ต้องการให้แหล่งเอราวัณและบงกชกลับมาผลิตให้เร็วที่สุดหลังหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 โดยคาดว่าหากเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมชนะการประมูล จะเริ่มกลับมาผลิตได้ตามปกติภายในปี 2567-2568 แต่หากเป็นผู้รับสัมปทานรายใหม่ คงต้องใช้ระยะเวลา คาดว่าจะเป็นปี 2570-2571

 

ส่วนกำลังการผลิตแหล่งเอราวัณและบงกช กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ กำลังการผลิต 1,280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ แหล่งบงกช 880 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยคิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ดังนั้น จึงต้องการให้ทั้งสองแหล่งกลับมาผลิตให้เร็วที่สุดภายหลังหมดอายุสัญญา ซึ่งมีความกังวลว่าภายหลังปี 2564-2565 กำลังการผลิตจาก 2 แหล่งจะเริ่มลดลงมาก แต่กรมฯเตรียมความพร้อมเพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทน

 

สำหรับการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ จำนวน 29 แปลงนั้น คาดว่าจะดำเนินการหลังการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่งเสร็จสิ้น

 

“การเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ 29 แปลง จะดำเนินการหลังจากการเปิดประมูล 2 แหล่งเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น หากการเปิดสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกช ไม่มีปัญหาอะไร และเสร็จภายในปี 2560 ก็น่าจะเปิดสัมปทาน 29 แปลงได้ภายในปี 2561" นายวีระศักดิ์ กล่าว