ECONOMICS

ฟิทช์ มองภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมไทยปีนี้ส่อแววดีขึ้น หลังกิจกรรมศก.เริ่มฟื้น
POSTED ON 17/03/2564


 

 

นักวิเคราะห์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ในปี 2564 แรงกดดันเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ น่าจะผ่อนคลายลง เนื่องจากความเสี่ยงจากปัจจัยลบมีแนวโน้มลดลง หลังจากเริ่มมีการกระจายการฉีดวัคซีน และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 ฟิทช์ ได้จัดงานสัมมนาโดยมีเนื้อหา ประกอบด้วย แนวโน้มสถานะทางเครดิตของบริษัทในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทย และความสำคัญของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) และผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวต่อสถานะทางเครดิตที่เกิดขึ้นทั่วโลกและในภูมิภาคในปี 2564

น.ส.สมฤดี ไชยวรรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และ ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) โดยรวมของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์ น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 แม้ต้นทุนการดำเนินงานจะปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของบางบริษัทอาจจะมีความล่าช้าจากการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น

ในปี 2564 แนวโน้มของธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี น่าจะยังคงเป็นลบ เนื่องจากอุตสาหกรรมมีอัตราส่วนหนี้สินที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการฟื้นตัวของผลประกอบการ ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมน่าจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ แม้ว่าจะมีการลงทุนก่อสร้างเครือข่าย 5G และค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น

ส่วนแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารน่าจะยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่คาดว่าจะลดลงในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของผลประกอบการ นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าแนวโน้มของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และในธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค น่าจะยังคงมีเสถียรภาพในปีนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนนาย Mervyn Tang ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Sustainable Finance ของฟิทช์ กล่าวในการบรรยายเรื่องแนวโน้มของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นทั่วโลก ว่า ปัจจัยด้านความยั่งยืนได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายและกรอบธรรมาภิบาลของบริษัท และเป็นปัจจัยที่สถาบันการเงินใช้ประกอบการตัดสินใจในการให้สินเชื่อและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ นโยบายการจัดหาแหล่งเงินทุน และกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากขึ้นในปี 2564 การกำหนดให้มีการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล น่าจะทำให้สถาบันการเงินสามารถนำปัจจัยดังกล่าวมาใช้ในการประกอบการตรวจสอบและประเมินบริษัทมากขึ้น ซึ่งรวมถึงนโยบายการสนับสนุนสินเชื่อให้กับบริษัทที่มีการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการจัดหาแหล่งเงินทุนของบริษัท ฟิทช์คาดว่ากฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทย น่าจะเพิ่มจำนวนบริษัทที่สามารถออกตราสารหนี้ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ให้มีจำนวนมากขึ้น

บริษัทที่สามารถออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Bond) น่าจะมาจากหลากหลายธุรกิจกว่าบริษัทที่สามารถออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) เนื่องจากการใช้เงินจากการออกตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องวัตถุประสงค์แบบเฉพาะเจาะจงเท่า

ผลของความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจะมีบทบาทสำคัญในการปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนส่งผลให้มีการกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการเฝ้าติดตามประเด็นต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตโลก