COLUMNIST

Wood Pellet กำลังรอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
POSTED ON -


 

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่มีความเฟื่องฟูไม่แพ้อื่นใดก็คงเป็นการผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากวัตถุดิบทางการเกษตร ทั้งที่เหลือทิ้งและปลูกเพื่อใช้สำหรับผลิตเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ซึ่งมีองค์ประกอบหลายส่วนที่ทำให้ความน่าสนใจของเชื้อเพลิงแข็งชนิดนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย 

 

สถานการณ์ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกดีดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ ผนวกกับความพยายามในการรณรงค์เรื่องสภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นตัวเร่งและเงื่อนไขที่ทำให้การผลิตพลังงานทดแทนในทุกประเภทได้รับความสนใจขึ้นอย่างมาก รวมไปถึงการผลิตเชื้อเพลิงจากธรรมชาติก็เช่นกัน และนั่นก็ส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

 

ในช่วงเวลาดังกล่าวเม็ดเงินกว่า 3,000 ล้านบาทในประเทศไทยถูกลงทุนไปกับการผลิตเชื้อเพลิงอย่างชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood pellet ซึ่งในตลาดรับซื้อให้ราคากว่าตันละ 4,500 บาท ขณะที่ราคารับซื้อในปัจจุบันเหลือเพียง 3,500 บาทต่อตันเท่านั้น คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับ Wood pellet?

 

เกาหลีใต้ผู้รับซื้อ Wood pellet รายใหญ่มีการปรับตัวรับกับราคาเชื้อเพลิงคู่แข่งอย่างน้ำมันเตาและถ่านหินที่มีราคาลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าหลายแห่งที่เปลี่ยนใจมาใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นแทนเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง แต่บริษัทเหล่านั้นก็จะถูกปรับในเรื่องของการปล่อยมลภาวะ แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ลดลง หักลบกลบหนี้แล้ว จึงไม่แปลกใจที่จะทำให้ดีมานด์ของเชื้อเพลิงอัดแท่งค่อย ๆ หายไป ส่วนบางแห่งที่ยังมีการใช้อยู่ก็เนื่องจากถูกบังคับจากสภาพการแวดล้อม จนทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก

 

จะรอดได้อย่างไรกับสภาพการณ์แบบนี้?

 

ทุกอย่างไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ยังคงมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ เมื่อญี่ปุ่นมีการออกนโยบายลดมลภาวะด้วยการหันมาสนับสนุนเชื้อเพลิงจากธรรมชาติทดแทนพลังงานจากปรมาณูที่ติดตั้งอยู่ดาษดื่นในเกาะคิวชูทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งความกังวลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อโรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้ญี่ปุ่นหันมาส่งเสริมการผลิตพลังงานประเภทอื่นมากขึ้น พร้อมทั้งเร่งเปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่ได้รับความเสียหาย

 

สำหรับปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงอัดแท่งในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณปีละ 5-6 ล้านตัน แต่ญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ได้เปิดบ้านหรืออ้าแขนรับซื้อเชื้อเพลิงที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรของบ้านเรามากนัก เนื่องจากยังคงมีคำถามอยู่ว่า เราไปเอาเศษไม้จากไหนมาทำเชื้อเพลิงอัดแท่ง? โคนป่าไม้หรืออย่างไร?

 

ในความเป็นจริงไม้ส่วนใหญ่มาจากไม้ยางพาราที่หมดอายุ ซึ่งจะมีการโค่นทิ้งทุกปีอยู่แล้ว และไม้เหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีในการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง แม้ว่าอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในเรื่องของสะสารมลทินในตัวเนื้อไม้ แต่ก็เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ และเกิดขึ้นในบางกรณีเท่านั้น   

 

ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงคงต้องพึ่งรัฐนาวาในการเจรจาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของไม้ว่ามาจากการปลูกหรือเป็นป่าเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นป่าธรรมชาติอย่างที่ญี่ปุ่นเข้าใจ และมีการปลูกทดแทนอย่างสม่ำเสมออีกด้วย 

 

* จากข้อมูลที่รับทราบมาเบื้องต้น การลงทุน Wood pellet ส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นเป็นการลงทุนจากชาวต่างชาติ ไม่ได้เกิดจากเอกชนในประเทศญี่ปุ่นเอง ทั้งนี้ หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถร่วมแชร์มาได้ผ่านทางอีเมล์ akaradeth_nil@hotmail.com

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics