COLUMNIST

Wood Pellet ไทย จะไปญี่ปุ่น : ภาครัฐต้องร่วมมือ เอกชนต้องรักษาคุณภาพ
POSTED ON -


 

หลายปีมานี้ คำคุ้นเคยของผู้สนใจพลังงานทดแทนคงไม่แคล้วคำว่า "Wood Pellet" เนื่องจากลงทุนน้อย คืนทุนเร็ว ตลาดส่งออกราคาดี เป็น Green Product ผู้ทำธุรกิจนี้เสมือนมีตัวช่วยลดโลกร้อนไปด้วย นอกจากนั้นแล้วเมืองไทยยังได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ สามารถปลูกชีวมวลได้ตลอดทั้งปี แม้ไม่ปลูก ต้นไม้ก็ยังขึ้นเอง

 

แต่ไม่ทันที่ฝันจะเป็นจริง ก็มีข่าวการงดซื้อ หรือไม่ก็ราคา Wood Pellet ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยสาเหตุต่างๆ นานา เช่น นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้ซื้อเปลี่ยนไป ไม่ก็คุณภาพของ Wood Pellet ที่มีการปลอมปน ขาดมาตรฐาน จึงมีการกดราคาจากผู้ซื้อ และอีกหลายๆ เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจชะลอตัวอย่างฉับพลัน ทำให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยต้องรีบลงมาช่วยเหลือสมาชิกทันที ก่อนจะสายเกินไป

 

Wood Pellet หรือ ชีวมวลอัดแท่ง แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเภทที่เป็น Wood คือ ผลิตจากไม้ อาทิ ต้นยาง ยูคาลิปตัส และกระถินยักษ์ และ (2) แบบ Non-wood เช่น ทลายปาล์ม ใบอ้อย ชานอ้อย ซึ่งชีวมวลอัดแท่งที่เป็น wood จะราคาดีกว่า ค่าความร้อนสูงกว่า และขี้เถ้าน้อยกว่า เหมาะแก่การส่งออก เนื่องจากได้ราคาดี และแน่นอนที่สุดว่าชนิด Non-wood ก็คงต้องรับใช้โรงงานในประเทศไทย ดังนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้มีโครงการส่งเสริมแบบผู้ใหญ่ใจดี หากใครหันมาใช้ Wood Pellet ยินดีจะเปลี่ยนหัวเผาให้ฟรี โดยควักภาษีเรามาใช้ 200 ล้านบาท... ยินดีด้วยความเต็มใจ

 

ก่อนจะเล่าให้ฟังว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนา Wood Pellet มากน้อยเพียงใด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ขอพาท่านไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งและโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้สักเล็กน้อยในประเทศญี่ปุ่น ณ เมืองฟูกูชิมา ซึ่งห่างจากสนามบินนานาชาตินาริตะราว 2 ชั่วโมง

 

 

บริษัท TONOKASAN ผลิต Wood Pellet กว่าปีละ 200,000 ตัน ใช้ไม้สนซีดาร์ (Cedar) ประมาณ 90% เป็นวัตถุดิบ โดยการรับซื้อจากทั้งภาครัฐ-เอกชน และบางส่วนก็ปลูกเอง ซึ่ง TONOKASAN ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ และมีศักยภาพการผลิตสูง ทั้งนี้ ในระหว่างที่คณะเราเข้าไปดูงานก็มีรถเข้ามาส่งวัตถุดิบอยู่ตลอดเวลา

 

TONOKASAN ผลิต Wood Pellet ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ผลผลิตประมาณ 50% ส่งขายให้ภาครัฐ และอีก 50% ขายให้เอกชน ซึ่งการผลิตชีวมวลอัดแท่งของโรงงานแห่งนี้ได้รับหนังสือรับรอง FSC หรือไม่ก็ PEFC เป็นที่เรียบร้อย

 

โรงไฟฟ้า NAKASO ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 170 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าทั้งหมด 5 โรง มูลค่าการลงทุนประมาณ 90 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมาโดยตลอด ต่อมาในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ภาครัฐส่งเสริมให้ใช้ชีวมวลผสมกับถ่านหิน เพื่อช่วยลดมลพิษในอากาศ จึงได้เริ่มมีการผสมชีวมวลอัดแท่งซึ่งนำเข้าจากแคนาดา อเมริกาเหนือ และจีน เข้าไปในกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยสัดส่วน 3% ปัจจุบันมีการใช้ถ่านหินราว 3,500,000 ตันต่อปี และใช้ Wood Pellet ประมาณ 60,000 ตันต่อปี ค่าความร้อนเฉลี่ยของชีวมวลอยู่ที่ 4,500 Kcal/kg ขี้เถ้าประมาณ 3%

 

 

ประเทศญี่ปุ่นมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โดยมีอัตราค่าจำหน่ายไฟฟ้า 24 เยนต่อหน่วย (หน่วยละ 8 บาท) แต่ชีวมวลต้องมีการรับรองตามข้อกำหนด เช่น FSC (Forest Stewardship Council) หรือ PEFC (Programme for the Endorsement of Forest Certification) ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ล้วนเป็นองค์กรเอกชนที่ตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ทั่วโลก เช่น กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และกลุ่ม NGO

 

สำหรับ FSC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ส่วน PEFC ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ด้วยการออกเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ (Label) บนไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ และต่างก็เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร

 

ผู้เขียนกำลังใช้ความพยายามในการย่อโลกทั้งใบของ Wood Pellet ให้อยู่ในบทความนี้บทความเดียว เมื่ออ่านถึงตรงนี้ท่านคงอยากทราบว่า แล้วประเทศไทยจะเอื้อมมือเด็ดดอกฟ้าเมืองซากุระได้อย่างไร บทความนี้จะขอกล่าวถึงไม้ยางพาราเป็นหลัก เนื่องจากมีปริมาณมากและมีการตัดโค่นสม่ำเสมอ

 

ไม้ยางพาราที่จะนำไปแปรรูปจะมีอายุตั้งแต่ 25-30 ปี เนื่องจากหมดสภาพการผลิตน้ำยาง โดยต้นยางพาราที่หมดสภาพเหล่านี้จะถูกโค่นเพื่อนำไม้ยางเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นไม้เฟอร์นิเจอร์ต่อไป

 

การโค่นยางพารานั้นมักจะทำในช่วงฤดูแล้ง (ราวเดือนธันวาคม - พฤษภาคม) เนื่องจากง่ายต่อการเข้าไปในพื้นที่ ไม้ยางพาราจะถูกตัดให้ได้ขนาดตามที่โรงงานแปรรูปต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 นิ้วขึ้นไป และมีความยาวประมาณ 1.0-1.3 เมตร เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์

 

ขณะที่วัสดุที่เหลือทิ้งในสวนยางพารา ประกอบด้วย เนื้อไม้ ส่วนปลายยอด กิ่ง/ก้าน ใบ ตอไม้ และรากไม้ ซึ่งวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้เกษตรกรนิยมนำไปเผาทิ้ง หรือบางส่วนอาจนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ในการเผาถ่าน หลังจากนำต้นยางพาราเข้าสู่โรงเลื่อยและโรงงานเฟอร์นิเจอร์ จะได้ชีวมวลออกมาในรูปของปีกไม้และขี้เลื่อย

 

ปริมาณผลพลอยได้จากการโค่นต้นยางพารา พ.ศ.2557

ลำดับ

ประเภท

อัตราต่อไร่ (ตัน)

ผลผลิต / 307,674 ไร่ (ล้านตัน)

1

ไม้ยางพาราท่อน

30

9.2

2

ปีกไม้

12

3.6

3

กิ่ง/ก้าน

9

2.7

4

ขี้เลื่อย

3

0.9

5

ราก

5

1.5

ที่มา : สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)

 

วันนี้ประเทศไทยคงต้องเร่งมือจัดการกับระบบป่าเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ยางพาราและยูคาลิปตัสให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งมีการส่งสัญญาณให้ประเทศไทยรับทราบมานานแล้ว เพื่อให้ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ของไทยได้รับเครื่องหมาย FSC หรือ PEFC ง่ายขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อการส่งออก แต่เพื่อบริหารจัดการในประเทศด้วย นอกจากนี้ ไม้ยางพารายังถูกประเทศคู่แข่งขันมองว่าเป็นผลพลอยได้จากการปลูกเพื่อขายน้ำยางพารา จะมีการใช้เงื่อนไข FSC หรือ PEFC เป็นข้อกีดกันทางการค้า ทางที่ดีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหา จะได้มีโอกาสส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้อย่าง Wood Pellet  

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics