COLUMNIST

กลยุทธ์ในการขยายกิจการและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
POSTED ON -


 

คงเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกกิจการที่เมื่อเปิดดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งจนทุกอย่างเข้าที่เข้าทางดีแล้ว กิจการเหล่านั้นย่อมต้องการที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้กิจการมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีผลการดำเนินกิจการที่ดีขึ้น และได้กำไรมากขึ้นนั่นเอง

 

เมื่อกิจการต้องการขยายตัว กิจการจะต้องวิเคราะห์และวางแผนให้ดีว่าจะให้กิจการขยายตัวในรูปแบบใด เพราะการขยายตัวของกิจการมีทั้งแบบที่พยายามเติบโตขึ้นด้วยตัวเอง วางแผนและควบคุมค่าใช้จ่ายเพื่อให้เกิดผลต่างระหว่างราคาขายและต้นทุน (margin) สูงที่สุด เพื่อให้กิจการได้รับผลกำไรสูงสุดนั่นเอง หรือทำการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิต เพิ่มยอดขาย และสุดท้ายเพื่อเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานนั่นเอง หรืออาจด้วยวิธีการอื่นๆ อีกมากมายเพื่อให้กิจการขยายตัวต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม กิจการอาจเลือกที่จะขยายตัวผ่านการควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการขยายกิจการผ่านการควบรวมกิจการนั้นมีทั้งแบบการควบรวมกิจการในแนวราบ (Horizontal Integration) และการควบรวมกิจการในแนวดิ่ง (Vertical Integration) ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบนี้มีวิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป

 

แน่นอนว่าทั้ง 2 รูปแบบย่อมมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดสามารถกล่าวได้ว่ารูปแบบใดให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากัน ผู้เขียนเองก็เชื่อว่าทั้ง 2 รูปแบบนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดก็ต่อเมื่อกิจการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวอย่างถูกที่และถูกเวลานั่นเอง

 

ขอเริ่มด้วยวิธี Horizontal Integration โดยถ้ากิจการเลือกใช้วิธี Horizontal นั้น กิจการจะไปควบรวมหรือซื้อกิจการที่ดำเนินธุรกิจเหมือนกันกับกิจการของเรานั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกิจการที่จะไปซื้อนั้นก็มักที่จะเป็นคู่แข่งของเราเอง โดยกิจการเหล่านี้อาจดำเนินธุรกิจในตลาดเดียวกันเลย เช่น อยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน หรือดำเนินธุรกิจเหมือนกันแต่อยู่กันคนละตลาด เช่น กิจการของเราอยู่ในประเทศไทย แต่ของกิจการที่จะไปซื้อนั้นอยู่ที่ประเทศอื่น เป็นต้น

 

การซื้อกิจการของคู่แข่งนี้อาจเป็นการซื้อเพื่อเพิ่มขนาดกิจการของเรา หรือเพื่อเพิ่มตลาดในการขายสินค้า หรือแม้กระทั่งซื้อกิจการของคู่แข่งมาเพื่อทำลายยี่ห้อของคู่แข่งรายนั้นไปเลย ทั้งนี้ แล้วแต่วิธีการของกิจการที่ได้วางแผนเอาไว้

 

จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้น การควบรวมหรือซื้อกิจการที่ดำเนินธุรกิจเหมือนกับของกิจการเราอยู่แล้วนั้นจะมีข้อดีตรงที่กิจการของเราสามารถขยายตลาดออกไปได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการเปิดสาขาหรือกิจการในเครือเพิ่มอีกด้วย โดยในการเปิดสาขาหรือตั้งกิจการในเครือเพิ่มนั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือเช่าอาคารสำนักงาน ค่าอุปกรณ์ที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนกิจการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าการไปซื้อกิจการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วย่อมมีค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากที่น้อยกว่า

 

นอกจากนี้ การควบรวมหรือซื้อกิจการที่เหมือนกันกับกิจการของเรายังจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากการเพิ่มขนาดการผลิต (Economies of Scale) การประหยัดค่าใช้จ่ายจากการที่ผลิตสินค้าหรือซื้อวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก การควบรวบกิจการแบบ Horizontal ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด และด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลงอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในกระบวนการควบรวมแบบ Horizontal นี้ ก็คือ การควบรวมรูปแบบนี้จะสร้างความยากลำบากในการวางแผนการดำเนินงาน ถึงแม้ว่ากิจการจะมีลักษณะของสินค้าที่เหมือนกัน แต่อย่าลืมว่าโครงสร้างและวัฒนธรรมขององค์กรที่แตกต่างกันย่อมส่งผลให้การวางแผนเพื่อให้ทั้งสองกิจการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุดนั้นค่อนข้างยากลำบาก จนในบางครั้งการรวมตัวกันกลับไม่ก่อให้เกิดผลกำไรและยิ่งทำให้กิจการอ่อนแอลงไปจากเดิมอีกด้วย

 

ซึ่งการรวมตัวกันของกิจการอาจถูกมองในแง่ลบจากผู้บริโภคว่ากิจการจะพยายามควบคุมตลาดและลดทางเลือกของผู้บริโภคลง ในบางกรณีการควบรวมกิจการในรูปแบบนี้อาจขัดแย้งกับกฎหมายการต่อต้านการรวมกลุ่ม เพื่อการผูกขาดครองอำนาจในตลาด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อคุ้มครองไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอีกด้วย (Anti-Monopoly or Antitrust Law)

 

ทางด้านวิธี Vertical Integration นั้น กิจการจะขยายโดยผ่านการควบรวมหรือซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องและอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น กิจการของเราดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตแป้งสำหรับผลิตขนมปัง วิธีการแบบ Vertical นั้นจะไม่ใช่การไปควบรวมกิจการกับผู้ผลิตแป้งรายอื่น แต่จะเป็นการไปซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ไปซื้อกิจการของผู้ผลิตวัตถุดิบ อาทิ ข้าวสาลี  กิจการขนส่ง หรือกิจการร้านเบเกอรี่ เป็นต้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าวิธีการแบบ Vertical จะมีทั้งแบบ Forward และ Backward โดยการทำแบบ Forward ก็เช่นการซื้อกิจการร้านเบเกอรี่ และ Backward ก็เช่นการซื้อกิจการของผู้ผลิตข้าวสาลีนั่นเอง

 

วิธีการแบบ Vertical จะเป็นการควบรวมกิจการที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบไปจนกระทั่งกิจการที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค โดยข้อดีของวิธีการนี้ ก็คือ การช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่กิจการ เนื่องจากการที่กิจการเราซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเราเองย่อมได้ราคาที่ถูกกว่าการไปซื้อจากแหล่งอื่น อีกทั้งจะช่วยให้กิจการสามารถควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบให้เป็นไปในแบบที่กิจการเราต้องการได้อย่างดีอีกด้วย จึงทำให้ลดความเสี่ยงที่เกิดจากสินค้าไม่ได้มาตรฐานลงไปได้

 

สำหรับข้อจำกัดของวิธีการแบบ Vertical ก็มีไม่น้อยเช่นเดียวกัน ซึ่งได้แก่ กิจการอาจมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการลดลง กิจการอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในด้านวัตถุดิบในกรณีที่วัตถุดิบของเรามีปัญหา ทำให้กิจการอาจจำเป็นต้องไปซื้อวัตถุดิบจากที่อื่นโดยไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน ซึ่ง ณ เวลาดังกล่าววัตถุดิบราคาสูงเท่าใด กิจการก็จำเป็นต้องซื้อเพื่อนำมาผลิตสินค้า

 

รวมถึงกระบวนการและขั้นตอนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากต้องดำเนินการและควบคุมทุกขั้นตอนในการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการนำสินค้าออกขาย และสุดท้ายวิธีการแบบ Vertical นั้นจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าที่กิจการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินธุรกิจให้เอื้อประโยชน์ต่ออีกกิจการหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งวิธีการแบบ Horizontal และ Vertical Integration นั้นไม่มีวิธีการใดที่ดีกว่าอีกวิธีอย่างชัดเจน โดยถ้าจะให้สรุปอย่างสั้นและง่ายก็อาจสรุปได้ว่า วิธีการ Horizontal นั้นทำได้ง่ายและเห็นผลรวดเร็วกว่า โดยมีเพียงจุดประสงค์เดียวนั่นก็คือการขยายกิจการที่ดำเนินอยู่ให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดและยอดขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็น่าจะส่งผลให้กำไรที่สูงขึ้นด้วยนั่นเอง

 

ส่วนวิธีการแบบ Vertical นั้นยากกว่าวิธี Horizontal ค่อนข้างมากและใช้ระยะเวลานานกว่า อย่างไรก็ตามถ้ากิจการสามารถดำเนินการในรูปแบบนี้ได้ กิจการจะรู้สึกเหมือนกับว่าทุกอย่างในกระบวนการผลิตอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการเลยทีเดียว ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วกิจการจะเลือกใช้วิธีการใด ก็สุดแท้แต่ความต้องการของเจ้าของกิจการนั่นๆ เอง