COLUMNIST

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยกับการปรับตัวสู่ AEC
POSTED ON -


 

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “ผู้ประกอบการโลจิสติกส์กับการปรับตัวเข้าสู่ AEC” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มีทั้งการบรรยายพิเศษโดย ดร.ธนิต โสรัตน์ และการเสวนาพูดคุยกันระหว่าง ผศ.ดร.วิชัย รุ่งเรืองอนันต์ และคุณจักรชัย วิสุทธากุล รวมถึงผู้เขียนเองด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวในการสัมมนาน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ จึงขอนำมาฝากในฉบับนี้

 

จุดเปลี่ยนประเทศไทย โอกาสและความท้าทายจาก AEC เป็นเรื่องของการเปลี่ยนบริบทของภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งของข้อตกลงที่ยกระดับในเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม พูดถึงการใช้สิ่งแวดล้อมร่วมกัน อาจจะมีกองกำลังในอนาคต เรื่องของภาษา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบราชการ จุดเปลี่ยนของอาเซียนจะยิ่งใหญ่และเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่ง EU ถือเป็นที่ดี เพราะ EU ไม่ได้ผนึกเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อาเซียนพูดถึงเฉพาะ AEC เป็นเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมารวมกันเป็นข้อตกลงที่ก่อให้เกิดสินค้าและบริการ เกิดเสรีกันทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ต่างชาติหรืออาเซียนสามารถเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 70 ของการบริการโลจิสติกส์ได้

 

การเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคส่งผลต่อผู้ประกอบการของไทย ซึ่งการที่กำลังจะเข้าสู่ AEC ประเทศไทยเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะพม่า เพราะประชาชนพม่าอยู่ในเมืองไทยประมาณ 2 ล้านคน พวกเขาสามารถนำความรู้ไปพัฒนาประเทศได้ แม้กระทั่งเวียดนามก็พัฒนาได้มาก แม้แต่กัมพูชาก็อย่าประมาท

 

ส่วนมาเลเซียนั้นไม่ได้มองประเทศไทยเป็นคู่แข่ง เพราะยังเห็นว่าไทยมีปัญหาภายในประเทศ โดยในปี 2020 มาเลเซียประกาศว่าจะเป็นประเทศที่ยกระดับเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งการเข้าสู่อาเซียนต้องเปลี่ยนจากความท้าทายเป็นโอกาส โดยภาพที่เกิดจากการเชื่อมกันของโครงสร้างพื้นฐาน จะมีเรื่องของการค้าที่จะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน ทั้งนี้ AEC พูดถึงเสรีทางการค้า ซึ่งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานต้องอาศัยโลจิสติกส์และต้องทำความเข้าใจว่าเป็นโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะไปประเทศใดในภูมิภาคอาเซียนระบบโลจิสติกส์ก็ต้องผ่านไทย นั่นจึงทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลาง แต่การเชื่อมโยงของโลจิสติกส์มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งในแต่ละประเทศต้องมีกฎหมายของตนเอง การมองอาเซียนว่ามีธุรกิจอะไรบ้าง ต้องทำเมื่อมีการรวมกันและพัฒนาไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ก่อนทำการค้าและลงทุนต้องเข้าใจประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และอุปนิสัย

 

ในเรื่องของการ Sourcing และ Service Sector การให้บริการโลจิสติกส์ และสปา ร้านอาหาร ประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบ สามารถไปทำธุรกิจในต่างแดนได้ แต่การทำธุรกิจในต่างประเทศนั้นควรต้องระวัง เพราะส่วนมากรู้ไม่จริง ซึ่งคนที่จะรู้จริงนั้นจะเป็น International และอีกเรื่องที่สำคัญในการทำการค้า คือ “เรื่องศักดิ์ศรี” ที่ต้องเข้าใจ นั่นจึงจะทำให้การเข้าสู่อาเซียนของท่านเป็นผู้ประกอบการที่ดี

 

AEC มีหัวใจสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ (1) การเป็นตลาดฐานเดี่ยว กับ (2) การเป็นฐานการผลิตร่วมกัน ในส่วนของเรื่องแรกนั้น การเป็นตลาดฐานเดี่ยว หมายความว่า เรามีภาษีภายใต้การเชื่อมโยงหรือการคมนาคมในการขนส่ง การส่งมอบของสินค้าโลจิสติกส์จะส่งมอบ 3 ระเบียงเศรษฐกิจ คือ ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ ระเบียงเศรษฐกิจใต้ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก

 

• ในระเบียงเศรษฐกิจเหนือ มีถนนหลายสายเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ทางเหนือออกจากเชียงราย ถึง บอหัน ของจีน ระยะทางประมาณ 200 – 250 กิโลเมตร

 

• ในส่วนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก จะเป็นเส้น R9 ทางด้านมุกดาหาร ไปสุดที่ โฮดา ของเวียดนาม

 

• ในระเบียงเศรษฐกิจใต้ จะเป็นเส้น R5 ทางด้าน กาญจนบุรี-นครปฐม-กบินทร์บุรี-อรัญประเทศ-พนมเปญ

 

ส่วนเรื่องที่สอง การเป็นฐานการผลิตร่วมกัน ต้นทุนการผลิตไทยแข่งขันไม่ได้ ทั้งภาคอุตสาหกรรม  ภาคเกษตรกรรม  ภาคการค้า-บริการของไทย เริ่มที่จะมีแนวคิดการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย  การขาดแหล่งวัตถุและทรัพยากรธรรมชาติ จำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งผลิตใหม่ที่มีทรัพยากรที่พอเพียงและมีราคาที่ต่ำกว่าการผลิตในประเทศ

 

สำหรับปัจจัยการเลือกแหล่งลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ทิศทางการลงทุนของไทยจะไหลออกไปนอกประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมของไทยเติบโตเร็ว อย่างเช่น ปูนซีเมนต์ไทย, เครือเจริญโภคภัณฑ์, น้ำตาลมิตรผล ฯลฯ แต่ธุรกิจ SMEs เติบโตช้า ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีแล้ว ค่าแรงของคนไทยแพงกว่าเพื่อนบ้านถึง 3 เท่า ขณะที่ในอนาคตทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย จะหันไปลงทุนในพม่ามากขึ้น แม้แต่คนไทยก็ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและกลับมาขายภายในประเทศ

 

นอกจากนี้ เรื่องโลจิสติกส์ในยุคนี้เดินด้วยระบบ Digital โลจิสติกส์จึงกลายเป็น  E-Logistic แล้ว กระบวนการโลจิสติกส์ไม่ได้เป็นเพียงกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ก็ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในภาคการผลิต โดยเฉพาะการเปิดเสรี AEC การเข้าสู่ในอาเซียนจะเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ การเปิดภาคโลจิสติกส์ของคนไทยนั้นเป็นภาคเดียวที่มีปัญหาและมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง

 

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน คือ เป็นทั้งโอกาสและความท้าท้าย ขึ้นอยู่กับว่ามีการปรับตัวหรือรอโชคชะตา เศรษฐกิจ (ใหม่) และชุมชนไร้พรมแดนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับธุรกิจ ที่จะต้องเผชิญกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มนอกกลุ่มอาเซียน