BUSINESS

ไทยซัมมิท อัดงบกว่า 270 ล้านบาท ตั้งฐานผลิตในนิคมฯสระแก้ว
POSTED ON 25/09/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ 23 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วที่ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) เพื่อเตรียมลงทุนโรงงานผลิตชิ้นส่วนสายไฟสำหรับยานยนต์ มูลค่า 270 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562

 

สำหรับโรงงานดังกล่าวจะผลิตสินค้าป้อนให้กับค่ายรถยนต์ในประเทศ อาทิ โตโยต้า ฮอนด้า วอลโว่ มิตซูบิชิ อีซูซุ จีเอ็ม ยามาฮ่า ดูคาติ และคาวาซากิ เป็นต้น และบริษัทฯ ยังมุ่งหาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศ เช่น ตาก และกาญจนบุรี เนื่องจากทางบีโอไอทยอยประกาศยกเลิกการส่งเสริมกิจการประเภทชิ้นส่วนชุดสายไฟ (Wiring Harness) ในพื้นที่ภาคตะวันออก ดังนั้น การขยายลงทุนใหม่ในกิจการเหล่านี้จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ และสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก็กำลังจะหมดลงในอีก 5 ปี บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องใช้แผนขยายการลงทุนในพื้นที่ที่ให้สิทธิประโยชน์อื่นทดแทน

 

ด้าน นายสาโรจน์ วสุวานิช รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการลงทุนทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ ได้แก่ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) จะผลิตชุดสายไฟ/ชิ้นส่วนไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์, บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบังโอโตพาร์ท จำกัด ดำเนินธุรกิจในการขึ้นรูปโลหะสำหรับยานยนต์ และ บริษัท ไทยซัมมิท พลาสเทค จำกัด จะผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์และเครื่องจักรกลอื่น ๆ

 

โดยในปี 2560 บริษัทฯ ได้ทยอยใช้เงินลงทุนที่ตั้งไว้ 5,000 ล้านบาท ในการควบรวมกิจการ (M&A) การหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันให้มีการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องจับมือพาร์ตเนอร์ศึกษาเตรียมแผนลงทุนแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน

 

ในปี 2560 บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายทั้งกลุ่มรวม 40 แห่ง แบ่งเป็น ในไทย 30 แห่ง และในต่างประเทศอีก 8 แห่ง อยู่ที่ประมาณ 79,136 ล้านบาท กลยุทธ์คือการเดินไปตามเทรนด์ของตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น หาพื้นที่ลงทุนใหม่ ๆ เกาะติดตั้งโรงงานใกล้กับคู่ค้ายานยนต์

 

ด้าน นายจุติณัฏฐ์ สิริมังคลกิตติ รองประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า นิคมที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนทั้งหมดคือเป้าหมายการลงทุนของบริษัทฯ โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) สิทธิประโยชน์ ผลิตแล้วซัพพอร์ตให้คู่ค้าคุ้มกว่า และ (2) สามารถลดต้นทุนโดยใช้แรงงานทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งเพื่อนบ้านได้ ซึ่งค่าแรงในพื้นที่ภาคตะวันออกบางรายต้องจ่ายสูงถึง 500 บาทต่อวัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ