BUSINESS

บ้านปู กรุยทางสู่ธุรกิจพลังงานครบวงจร พร้อมขยายแหล่งแร่ใหม่
POSTED ON 21/08/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวว่า นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึง 3 กลยุทธ์เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองถ่านหินจากความต้องการที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยการซื้อถ่านหินจากพื้นที่ใกล้เคียงนำมาเข้าสู่กระบวนการผสมจนมีคุณภาพเท่ากับที่มีอยู่เพื่อส่งให้ลูกค้า เพิ่มอัตราการทำกำไรจากการ Operation โดยซื้อน้ำมันตรงจากผู้ขายมาใช้ทำเหมือง เพื่อลดต้นทุนในปีนี้ รวมถึงซื้อขายในรูปแบบเทรดดิ้ง และจะเพิ่มมูลค่าสินค้าแบบระยะยาว โดยขยายแหล่งแร่แห่งใหม่จากการซื้อเพิ่มเติม

 

ส่วนธุรกิจใกล้เคียงเกี่ยวกับถ่านหิน เช่น แหล่งถ่านหินในมองโกเลีย ทั้งหมดจะส่งผลให้ปี 2560 มียอดขายถ่านหินได้สูงถึง 45 ล้านตัน จากเหมืองที่ดำเนินการอยู่ 3 แห่ง คือ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และจีน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีจัดการพลังงาน เพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทพลังงานครบวงจร

 

สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกบริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 1,266 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 43,425 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 244 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,369 ล้านบาท) หรือ 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 431 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 14,784 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิรวม 107 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,670 ล้านบาท) ปัจจัยมาจากราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 66.66 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มถึง 44%

 

ด้าน นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์ระหว่างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนให้สมดุล เพื่อขยายกำลังผลิตให้มากกว่า 4,300 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานหมุนเวียน 20% ในปี 2568 ซึ่งผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกสะท้อนถึงผลตอบแทนที่โตต่อเนื่อง โดยมีโครงการโรงไฟฟ้า 26 โครงการ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ 14 โครงการ และอยู่ระหว่างพัฒนา 12 โครงการ ในไทย สปป.ลาว จีน และญี่ปุ่น ส่วนกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ณ สิ้นไตรมาส 2 รวมอยู่ที่ 2,057 เมกะวัตต์เทียบเท่า

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ